วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558

บางระจัน ( ภาพยนตร์ )

เนื้อเรื่อง

ในปีพุทธศักราช 2308 พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าส่งทัพพม่า 2 ทัพใหญ่บุกกรุงศรีอยุธยา ทัพหนึ่งบุกเข้ามาทางใต้ นำโดย มังมหานรธา อีกทัพหนึ่งเป็นทัพผสมรามัญบุก เข้ามาทางเหนือ นำโดย เนเมียวสีหบดี การบุกของทัพนี้ต้องเจออุปสรรคเป็นรายทาง เพราะต้องพบกับกองกำลังต่อต้านโดยชาวบ้านธรรมดา ๆ ทำให้ต้องเดินทัพล่าช้า โดยชาวบ้านที่แตกระสานซ่านเซ็นมารวมตัวกันที่บ้านระจัน โดยมี พ่อแท่น (ชุมพร เทพพิทักษ์) ผู้อาวุโสที่สุดเป็นแกนนำ ที่บ้านระจันมีชาวบ้านที่มีฝีมือหลายคนรวมตัวกัน เช่น อ้ายจัน (จรัล งามดี) ที่แค้นพม่าที่เมียถูกฆ่าตาย, อ้ายอิน (วินัย ไกรบุตร) พรานขมังธนู ที่เพิ่งอยู่กินกับอีสา (บงกช คงมาลัย) เมียสาว และ อ้ายทองเหม็น (บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์) คนพเนจรผมเผ้ารุงรังที่ไม่มีใครรู้หัวนอนปลายตีน ชอบกินเหล้าเมาพับอยู่ใต้เกวียน และมีหลวงพ่อธรรมโชติ (ธีรยุทธ ปรัชญาบำรุง) ผู้ขมังเวทย์แห่งวัดโพธิ์เก้าต้น เป็นขวัญกำลังใจ
วันหนึ่ง ขณะสู้รบพ่อแท่นได้รับบาดเจ็บเพราะปืนใหญ่ที่ หล่อเองเกิดแตก หลายคนเสียกำลังใจอพยพหลบหนี อ้ายจันจึงขึ้นเป็นผู้นำ เนเมียวสีหบดีหัวเสียที่ไม่สามารถตีฝ่าบ้านระจันไปได้เสียที สุกี้ (กฤษณ์ สุวรรณภาพ) นายกองเชื้อสายรามัญจึงขออาสานำเข้าตีและสังหารพระเพื่อตัดกำลังใจชาวบ้านระ จัน ทั้งหมดลุกขึ้นสู้แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม

นักแสดง

  • บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์.....อ้ายทองเหม็น
  • วินัย ไกรบุตร.....อ้ายอิน
  • จรัล งามดี.....อ้ายจัน
  • บงกช คงมาลัย.....อีสา
  • นิรุติ สาวสุดชาติ.....อ้ายดอก
  • ชุมพร เทพพิทักษ์.....พ่อแท่น
  • สุนทรี ใหม่ละออ.....อีแตงอ่อน
  • ธีรยุทธ ปรัชญาบำรุง.....หลวงพ่อธรรมโชติ
  • อรรถกร สุวรรณราช.....อ้ายเมือง
  • ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล.....พันเรือง
  • กฤษณ์ สุวรรณภาพ.....สุกี้

คำวิจารณ์และความนิยม

บางระจัน สร้างขึ้นมาจากเรื่องราวของวีรชนบ้านบางระจันแห่งจังหวัดสิงห์บุรี ที่คนไทยรู้จัก เป็นอย่างดี ที่กล่าวกันว่าเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านธรรมดา ๆ ต่อต้านกองทัพพม่าที่มีกำลังเหนือกว่าได้ถึง 5 เดือน จนตัวตาย เรื่องราวของวีรกรรมส่วนนี้เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง และประพันธ์เป็นเพลงปลุกใจที่รู้กันกันดี เช่น ศึกบางระจัน ของขุนวิจิตรมาตรา
บางระจันฉบับภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัดคำว่า "ศึก" ออกไป เหลือแต่ "บางระจัน" อย่างเดียวเพื่อเน้นถึงความเป็นสถานที่ อีกทั้งชื่อของชาวบ้านที่เคยรับรู้ว่าขึ้นต้นด้วยคำว่า "นาย" กลายเป็น "อ้าย" หรือ "อี" เพื่อความสมจริงสำหรับการใช้ภาษาให้คล้องจองกับยุคสมัยนั้น
เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย กลายเป็นภาพยนตร์ยอดนิยมภายในเวลาไม่นาน ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่า คงเป็นด้วยการที่เป็นวีรกรรมของบุคคลระดับชาวบ้านจึงง่ายต่อการเข้าใจและใน ช่วงเวลานั้นใกล้จะถึงการเลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งใหม่ครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการกล่าวกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมร่างมากที่สุดในขณะนั้น  ทำให้ภาพยนตร์ได้รายได้มหาศาลถึง 150.4 ล้านบาท จนต้องมีการตัดต่อใหม่ ใส่คำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษสำหรับคนต่างชาติ เพื่อนำไปฉายต่อในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ
เป็นภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ธนิตย์ จิตนุกูล ผู้กำกับอีกครั้ง ซึ่งหลังจากนี้ธนิตย์ได้กำกับภาพยนตร์ในลักษณะนี้ตามมาอีกหลายเรื่อง ซึ่งก็มีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตการแสดงของ บงกช คงมาลัย ซึ่งต่อมากลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ให้กับ วินัย ไกรบุตร นักแสดงชายจนได้รับฉายาว่า "พระเอกร้อยล้าน" หลังจากนางนาก ในปี พ.ศ. 2542 และเมื่อนำออกฉายต่างประเทศ เป็นที่ชื่นชอบของ โอลิเวอร์ สโตน ผู้กำกับของฮอลลีวู้ด และได้ติดต่อ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่รับบทอ้ายทองเหม็น มารับบทเป็นพระราชาอินเดีย ในภาพยนตร์กำกับของตัวเอง คือ Alexander เมื่อยกกองถ่ายมาที่เมืองไทยอีกด้วย

Cr  :  wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น