วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

‘3บริษัทยักษ์’ลุยตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ชี้ปี2020คนไทยผลิต ‘โซล่าเซลล์’ใช้กันเอง

‘3บริษัทยักษ์’ลุยตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ชี้ปี2020คนไทยผลิต ‘โซล่าเซลล์’ใช้กันเอง!
      
 ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์บูมไม่หยุด หลังต้นทุนลด - รัฐหนุน Adder จับตา ‘บางจาก-เอ็กโก-ราชบุรีโฮลดิ้ง’ ลุยตลาดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สร้างรายได้ที่มั่นคง และลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ด้านนักวิชาการ ชี้ ปี 2020 วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยน หันมาผลิตไฟฟ้าจาก ‘โซล่าเซลล์’ ใช้เองในครัวเรือน พบช่องโหว่มาตรการพลังงานแสงอาทิตย์ ทำผู้ผลิตเสียโอกาส กรณีกั๊กใบจองอื้อแต่ไม่ยอมผลิต!
      
       พลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นทางเลือกของพลังงานที่จะใช้แพร่หลายในอนาคต ของสังคมไทย ทดแทนพลังงานเดิม อย่างก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน ฯลฯ ที่นับวันจะประสบปัญหาด้านวัตถุดิบที่ลดลง และอาจไม่เพียงพออีกต่อไป ปัจจุบันมีผู้ประกอบการมืออาชีพจำนวนมาก หันมาตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างจริงจังเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากเช่น โคมไฟโซล่าเซลล์
      
       2020 คนไทยผลิตไฟใช้เอง
      
       “อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2020 พลังงานแสงอาทิตย์จะเข้ามามีบทบาท และใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทย จนทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตามบ้านเรือนจะมีแผงโซล่าเซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ละครัวเรือนมากขึ้น และมีอุปกรณ์ที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ เช่น โคมไฟโซล่าเซลล์ ซึ่งอาจจะมาใกล้เคียงกับรถเสียบปั๊ก และอาจมีทีเก็บพลังงานไว้ใช้ ในอนาคตเทคโนโลยีจะทันสมัยมากยิ่งขึ้น และราคาต้นทุนอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตพลังงานจะลดต่ำลงมาก” ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุ
      
       ทั้งนี้พลังงานแสงอาทิตย์ถือว่าเหมาะกับประเทศไทย แต่ปัจจุบันยังไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มที่ ดังนั้นรัฐควรส่งเสริม เนื่องเพราะกระบวนการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องมีฐานการผลิตอย่างอื่นก็สามารถทำได้ เพียงมีพื้นที่ที่เหมาะสม และยังไม่ต้องพึ่งทรัพยากร อย่างถ่านหิน, ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ รวมถึงระบบโลจิสติกส์ไม่วุ่นวายอีกด้วย
      
       ผู้ผลิต ‘ไม่พร้อม-กั๊กใบจอง’
      
       ดร.เดชรัตน์ บอกอีกว่า ปัญหาการออกใบอนุญาตซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยยังไม่ชัดเจนในหลายด้าน ทำให้เกิดกรณีผู้มีใบจอง แต่ไม่มีความพร้อมในการผลิตจริง ทำให้ผู้มีความพร้อมเสียโอกาสไป ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ผู้มีความพร้อม แจ้งความจำนงล่วงหน้า 6 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องมีใบจองจึงจะสอดคล้องกับความสามารถในการผลิตและความต้องการ ใช้จริง
      
       ส่วนมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าคืนในราคาเพิ่ม หรือ Adder จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 8.00 บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (Kwh)1 ควรประกาศให้ชัดเจนว่าอยู่ในอัตราเท่าไรในปีนี้ ปีหน้า และปีถัดไป เพื่อผู้ประกอบการจะได้วางแผน เตรียมการได้อย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องลุ้น ทั้งนี้แนวโน้มในอนาคตต้นทุนการผลิตจะลดลง จึงเห็นควรว่าค่า Adder ควรลดลงตามไปด้วย ซึ่งความชัดเจนของนโยบายภาครัฐจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเติบโตของกลุ่ม พลังงานแสงอาทิตย์
      
       ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายแห่งสนใจตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์จำนวนมาก ประกอบด้วย บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด, เอ็กโก กรุ๊ป, บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ฯลฯ
      
       ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์บูม
      
       ด้าน ทรงกลด วงศ์ไชย ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟินันเซียไซรัส กล่าวถึงตลาดของกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ว่า หลังจากภาครัฐอุดหนุนค่า Adder จำนวน 8 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจ และมีผลการตอบรับที่ดี เพราะโดยปกติแล้วการผลิตไฟฟ้าถือว่าเป็นรายได้ที่มั่นคง ผลิตออกมาแล้วมีตลาดรองรับ และเป็นการลดความเสี่ยง
      
       ทั้งนี้ถ้าผู้ประกอบการลงทุนในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เอง โดยไม่ได้รับการสนับสนุน Adder ก็ยังถือว่าไม่คุ้ม เนื่องจากต้นทุนค่าแผงโซล่าเซลล์ที่สูง ทั้งต้องใช้พื้นที่กว้าง จะไม่สามารถขายไฟได้ในราคาเท่ากับพลังงานที่ผลิตจากแหล่งอื่น ส่วนการอุดหนุน Adder ของภาครัฐในครั้งหน้าอาจลดลงอยู่ที่ 6 บาท
      
       สอดคล้องกับโชคชัย อัศวรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการสายพัฒนาธุรกิจ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ถือว่าเติบโตรวดเร็ว เนื่องเพราะปัจจัยด้านต้นทุนที่ต่ำลง และนโยบายภาครัฐที่สนับสนุน ในอดีตหาก Adder 8 บาทก็ถือว่ายังไม่คุ้มที่จะลงทุน แต่ปัจจุบันค่าแผงโซล่าเซลล์ลดลงมาก ตั้งแต่หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 ทำให้ความต้องการชิ้นส่วนที่ใช้ในโซล่าเซลล์ต่ำลดบางชิ้นมีต้นทุนจึงถูกลง รวมถึงภายหลังรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการทำโซล่าฟาร์ม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากยิ่งขึ้น
      
       ‘บางจาก’ลุยตลาดพลังงานแสงอาทิตย์
      
       ส่วนของบริษัทบางจากฯ สนใจพลังงานทดแทนในกลุ่มของแสงอาทิตย์มากที่สุด โดยมีปัจจัยสนับสนุน ประกอบด้วย 1. ชุมชนยอมรับ 2.ภาครัฐสนับสนุน 3.แนวโน้มต้นทุนการผลิตต่ำลง 4.การทำกิจการไฟฟ้ามีความเสี่ยงน้อย 5. ประเทศไทยมีพื้นที่ๆ เหมาะสม มีศักยภาพในการผลิต
      
       โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ Sunny Bangchak ของบางจากปัจจุบันมีด้วยกัน 3 เฟส เฟสแรก ขนาด 38 เมกะวัตต์ ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนเฟสที่2 อยู่ที่ชัยภูมิ ขนาด 32 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ในช่วงปี 55 หรือ ต้นปี 56 ส่วนเฟสที่3 ขนาด 48 เมกะวัตต์ อยู่ที่สระบุรี ทั้งนี้บางจากยังวางเป้ามายในช่วง 10 ปีจะผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ประมาณ 500 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุน
      
       ‘ลพบุรี โซลาร์’ใหญ่ที่สุดในโลก
      
       ขณะเดียวกัน สหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โครงการลพบุรี โซลาร์ เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป บริษัท ซีแอลพี ไทยแลนด์ รีนิวเอเบิลส์ ลิมิเต็ด และ บริษัท ไดมอนด์ เจเนอเรติ้ง เอเซีย ลิมิเต็ด ในสัดส่วนร้อยละ 33.33 เท่ากัน ขนาด 63 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทยที่ใหญ่ติดอันดับ โลก และถือเป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางที่ใหญ่ที่สุดในโลก เหมาะกับอากาศร้อนของประเทศไทย
      
       ทั้งนี้ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล และมองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีความเป็นไปได้ในการก่อสร้างค่อนข้าง มากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ติดตั้งน้อย และต้นทุนในการผลิตเริ่มลดลง ขณะที่พลังงานทดแทนอื่นๆ จะมีปัญหาในส่วนของที่ตั้ง และที่มาของแหล่งเชื้อเพลิง
      
       พลังงานแสงอาทิตย์น่าลงทุน
      
       แหล่งข่าว บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 11 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 52.25 เมกะวัตต์ คิดเป็น กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 24 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนใน บริษัท โซลาร์ต้า จำกัด และกลุ่มบริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด ปัจจุบันผลิตได้จำนวน 24 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 จากกำลังการผลิตไฟฟ้าในธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศ
      
       “บริษัทฯ มีเกณฑ์การเลือกลงทุนในโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว หรือ PPA และได้รับเงินสนับสนุนราคาค่าไฟฟ้า หรือ Adder ที่แน่นอน เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าและมั่นคง โดยบริษัทฯ วางเป้าหมายลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน 100 เมกะวัตต์ ให้ได้ภายในปี 2559”
       ทั้งนี้จะเห็นว่าแนวโน้มตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยกำลังเติบโต และจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการชดเชยพลังงานไฟฟ้าจากส่วนอื่นๆ ในอนาคต

Cr  :  Manager Online

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น